เรื่องมานะอัตตา โดย พ่อครูสมณะโพธิรักษ์
ธรรมะจากพ่อท่านอบรมพวกเราเมื่อปี 2529 เกี่ยวกับการลด มานะ อัตตา การรู้จักยอม ละเอียดลึกซึ้ง ค้นมาจากสมุดบันทึกเก่าๆหลายสิบเล่ม....(ส.เสียงศีล)
พ่อท่านแสดงธรรม เรื่อง มานะ เรื่อง อัตตา ที่ปฐมอโศก ๑๔ สิงหาคม .๒๕๒๙
- มานะ จิต จิตที่มันยึดมั่น ถือดี
พวกเราพอได้ดีอะไร นิดๆ หน่อยๆ ก็จะถือดี มีมานะกันง่าย แต่คนที่เขาสูงจริง เขาจะรู้จักยอม แม้เขาจะถูก และคนส่วนใหญ่ผิดก็ตาม ยอมเพื่อที่จะให้รู้ชัดๆ ว่ามันผิดเสียเร็วๆ จะได้แก้ไขได้ทัน การสู้กับหมู่ที่ไม่เห็นด้วยนั้น มันหนักและเหนื่อย ควรที่จะรู้จักยอมดีกว่า เพราะถ้าเราผิดก็จะโดนรุมหนัก แต่ถ้าหมู่ผิด ก็ยังเฉลี่ยไปได้บ้าง
- การเอาความถูกต้องมาเป็นเครื่องตัดสินแพ้ชนะ มันก็ดี แต่ถ้าต่างคนต่างก็คิดว่าตัวเองถูก แล้วหาเหตุผลมาให้กับตัวเอง ว่าถูกอยู่เสมอ และก็ยึดโดยไม่รู้ตัว พอยึดแล้วก็หาคะแนน หาเหตุผล เข้าข้างตัว จะเถียงเก่งไม่จบง่ายๆ และจะเมาปัญญาก็จะเฉโกไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าคิดว่าตัวเองอาจจะผิดก็ได้ก็จะรู้จักฟัง และตรึกตรอง สำรวจตัวแก้ไขปรับปรุงตนมากขึ้น บางทีดูเหมือนแพ้แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นการเอาชนะใจตัวเองได้ต่างหาก
ข้อสำคัญ ระวังบางทีทำยอม แต่ยิ่งมีมานะ ยิ่งเพิ่มอัตตาขึ้นอีก คือ ยอมเพื่อโชว์ว่าตัวเองไม่มีมานะ หรือยอมแบบประชด
- ระวังอย่าเผลอตัวคิดว่าตัวเองถูกก่อนแล้วเอาชนะแบบดันทุรัง จะพังพินาศ ก่อให้เกิดการผิดพลาด ตกต่ำ ไปสู่นรกในที่สุด
- ต้องคิดว่าเราอาจจะผิดก็ได้ แล้วฟังคนอื่นบ้าง
- ต้องซาบซึ้งในตัวความยอมรับผิดให้มากๆ ใครไม่รู้จักยอม แสดงว่ามีมานะมาก
- ระวังผู้ที่เป็น ภันเต มักจะ ถือว่าตัวเองถูกต้องและมักจะเถียงอยู่เสมอ ดูแล้วน่าเกลียด แต่ผู้ที่ถูกต้องจริง แม้เขาจะไม่ยอม ก็ดูไม่น่าเกลียด และจะมีเหตุผลที่เหนือกว่า
- ผู้ที่มีจิตดี ไม่มีมานะ ไม่มีกิเลสผสม จะมีปัญญา มีวาทะที่คมคาย ลึกซึ้งกว่าจะโต้ตอบอย่างมีเหตุผล มีน้ำหนักกว่าผู้เอาแต่อารมณ์
- เมื่อเกิดการปะทะ หรือชนกับใคร ให้คิดก่อนเสมอว่า "เอ๊ะ นี่เราผิดหรือเปล่า" แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าให้เป็นคนอ่อนแอ จนไม่มีความมั่นใจในตัวเองจนเกินไป ให้รู้จักยับยั้งตัวเองบ้าง ให้มีความสุขุมประณีต
- คนที่ยังยึดว่าตัวเองถูกมีท่าทีแข็งแระด้าง จะเข้ากับหมู่ยาก จะอยู่ไม่ผาสุก และจะหลุดกระเด็นไปในที่สุด
- เราไม่ก้าวไปอย่างมีพลังก็เพราะ มันยังมีมานะยังไม่ประสานกัน ไม่ร่วมไม้ร่วมมือกัน
- เรื่องมานะ เรื่องอัตตานี้ เป็นเรื่องซับซ้อน ลึกซึ้ง มาก สายท่านพุทธทาส จึงสอนเรื่องนี้มาก จนมีอัตตา เป็นตัวกูของกูมาก
- ระวังอย่าหลงตัวว่าดี และก็อย่าลงโทษว่าตัวเองผิดจนเกินไป
- อย่าดีซ่าน จนดีเดือด หรือดีฝ่อ แต่ให้ดีบุกเข้าไว้
คาถาสำคัญ
เราเคยหลงความเป็นผู้ชนะ เราเอาชนะคะคานกันมามาก แต่ไหนๆ นั่นเป็นกิเลสมานะเป็นอัตตา ถ้าความถูกต้องเป็นเครื่องตัดสิน ความชนะมันก็ดีอยู่หรอก แต่ถ้า ความไม่ถูกต้อง เป็นผู้ชนะ มันก็จะไม่ดี ใครๆ ก็รู้ ใครๆ ก็เลยพากันยึดอยู่อย่างนี้
ดังนั้น จึงหลงว่าตัวเอง ถูกต้องกันง่ายๆ หรือจะหาเหตุผลมาให้ตนเป็นผู้ถูกต้องอยู่เสมอ
นี่คือ ความฉลาดยิ่งขึ้นก็ใช่
คือ เพื่อความถูกต้องที่ละเอียดยิ่งขึ้นก็ใช่
คือ ความยิ่งผิดพลาดซับซ้อน วนลึกยิ่งๆ ไปอีก ก็ใช่
คือ การสั่งสมมานะอัตตายิ่งๆ ขึ้น ก็ใช่
ดังนั้น ผู้ใดซาบซึ้งประทับใจกับผู้ยอมก้มหัวให้อย่างสำนึก ผู้นั้นกำลังเจริญ และจะต้องหัดทำตนเป็นผู้ยอมรับผิด หรือ ทำตนเป็นผู้ยอมแพ้ ยอมก้มหัว ให้อย่างสำนึก อย่างอ่อนน้อมเถิด
พระโพธิรักษ์
๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น