อโศกยุคเกื้อเอื้อกว้างกับตลาดประชาราษฎร์
ตลาดประชารัฐได้เปิดตัวพร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2560 ตามนโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ โดยทางราชการได้จัดให้ตลาดที่ บวร ราชธานีอโศก เป็นหนึ่งในตลาดประชารัฐ ในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี แถมมีพ่วงชื่อตลาดประชารัฐคุณธรรมและ Green market เข้าไปด้วย ในงานนี้ พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ผู้นำชาวอโศก ขอเรียกตลาดนี้ว่า ตลาดประชาราษฎร์ เพื่อย้ำเน้นความเป็นตลาดของประชาชน หรือเพื่อราษฎรทั้งหลายนั่นเอง
โดยเมื่องานเพื่อฟ้าดินที่ผ่านมา (วันที่ 31 ธ.ค. 2560-2 มกราคม 2561) ชาวอโศกได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้าแม่ขายชาวฐานราก ที่มีคุณธรรมขั้นต่ำคือ ถือศีล5 และไม่มีอบายมุขทั้ง6 เข้ามาขายสินค้าที่ไม่เป็นการมัวเมาเพิ่มกิเลส โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ คือไม่เก็บทั้งค่าเช่าที่หรือค่าเช่าแผง และไม่คิดค่าน้ำไฟ ทำให้ต้นทุนของผู้ขายต่ำลง และสามารถขายสินค้าในราคาบุญนิยม คือราคาต่ำกว่าทุน เท่าทุน หรือต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในท้องตลาดได้ ดังนั้น การเปิดตลาดประชาราษฎร์ของชาวอโศก จึงเป็นการลดระบบนายทุนพ่อค้าคนกลางที่ขูดรีดจากชาวบ้าน ผ่านค่าเช่าพื้นที่ตลาดราคาสูงลิ่ว ซึ่งถ้าไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงนี้ต่อไปยังผู้ซื้อ โดยตั้งราคาขายสูงๆ ภาระต้นทุนนั้นก็จะตกมาสู่ผู้ขาย ที่ขายสินค้าได้ไม่เพียงพอกับค่าเช่าที่ราคาแพง ตลาดประชาราษฎร์ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการนำผลิตภัณฑ์มาขายนั้น ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ของชาวบ้าน แต่ยังจะสร้างความเกื้อกูลกันอย่างพอเพียงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอีกด้วย
ผู้ค้าแม่ขายที่ได้รับคัดเลือกจากเงื่อนไขทางธรรมให้มาขายสินค้าผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ณ ตลาดประชาราษฎร์ในราคาบุญนิยม แม้ในตอนแรกผู้ค้าขายที่ผ่านการคัดเลือกบางคนจะอิดออดกับเงื่อนไขอันค่อนข้างเข้มงวดอยู่บ้าง แต่ภายหลังงาน ล้วนกลับไปด้วยความประทับใจอัดแน่น ไม่เพียงแต่ยอดขายที่ทะลุเป้าเกินความคาดหมาย เนื่องจากชาวบ้านที่มาเยี่ยมเยือนมีหลายฐานะ จึงจับจ่ายใช้สอยกันอย่างสนุกสนาน ทั้งผู้ซื้อผู้ขายยังได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของเครือข่ายการกสิกรรมไร้สารพิษ เพื่อช่วยเผยแพร่และขยายองค์ความรู้ให้เติบโตและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือโอกาสได้ซึมซับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายมักน้อยรู้จักพอของชาวอโศก ที่ไม่กลัวความจน คือมีน้อยก็สุขได้ พ่อค้าแม่ขายเหล่านี้ประทับใจกับสภาพแวดล้อมที่ดีไร้อบายมุข ได้คบคุ้นกับสมณะสิกขมาตุผ่านการตักบาตรก่อนตลาดเปิดทุกเช้า ได้เข้าใจและทดลองกินอาหารมังสวิรัติเต็ม 3วันในช่วงงานแล้วรู้สึกเบาทั้งกายและใจเพราะอิ่มอร่อยแบบไม่ต้องเบียดเบียนเลือดเนื้อสัตว์อื่นมาเพื่อความบันเทิงลิ้น นอกจากนี้ความรู้ในการกสิกรรมไร้สารพิษ ยังช่วยส่งเสริมและรองรับการกินมังสวิรัติที่สะอาดและถูกหลักอนามัยอีกด้วย
จากการสัมภาษณ์พ่อค้าแม่ขายหลายร้าน ต่างมีความเห็นพ้องว่า แม้งานนี้จะมาขายสินค้าในราคาต่ำกว่าที่เคยขาย แต่สิ่งที่ได้รับมากกว่าตัวเงิน คือความเบิกบานใจ สนุกสนาน ได้ร่วมกุศลในแผ่นดินพุทธที่มีสังคมสิ่งแวดล้อมดี มักน้อยแต่อุดมสมบูรณ์ พอเพียงจึงรู้จักเสียสละ มีน้ำใจ ให้อภัย ซื่อสัตย์บริสุทธิ์ และมีสาระ จากการมีธรรมะในการดำเนินชีวิต
ความทรงจำของชาวอโศกในอดีต คือเสื้อม่อฮ่อมเก่าๆ ตัดผมเกรียน ไม่ใส่รองเท้า สีหน้าท่าทางเคร่งสมถะ ต่างจากชาวอโศกในปัจจุบัน ที่ใช้เสื้อผ้าไทยปักลายด้วยสีสรรบ้าง ผมหลากหลายทรง ทั้งสั้นมากสั้นน้อย ใส่รองเท้าเรียบง่ายบ้าง และพูดคุยปฏิสันถารเจื้อยแจ้วยิ้มแย้มกันมากขึ้น
แม้รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไป แต่นามธรรมภายในจิตใจดังเดิม คือยังยืนหยัดมั่นคงในศีลและการกินอยู่หลับนอนที่เรียบง่าย กินอาหารมังสวิรัติ ความเคร่งครัดภายนอกลดลง กลายเป็นความปกติในการใช้ชีวิตในกรอบของความสำรวมสังวรในศีลอย่างเป็นอัตโนมัติ
อโศกยุคใหม่...ยุคปัญญา จึงพร้อมแล้วที่จะอ้าแขน เปิดน้ำตกลำธารหมู่บ้านชุมชน
รับผู้ใฝ่หาสัจจะของชีวิตโลกุตระจากทุกฐานะ เพื่อขยายถ่ายทอดธรรมะของพุทธ
เริ่มจากระดับศีล5 และละอบายมุข ผ่านวัฒนธรรมความจนและพอเพียงที่ยั่งยืน
ของในหลวงรัชกาลที่9 ออกไปในวงกว้างสู่มวลมหาชน.
รับผู้ใฝ่หาสัจจะของชีวิตโลกุตระจากทุกฐานะ เพื่อขยายถ่ายทอดธรรมะของพุทธ
เริ่มจากระดับศีล5 และละอบายมุข ผ่านวัฒนธรรมความจนและพอเพียงที่ยั่งยืน
ของในหลวงรัชกาลที่9 ออกไปในวงกว้างสู่มวลมหาชน.
เรื่องราว โดย--ดร.ต้อม ปรารถนา พรประภา
ภาพ โดย ในศิลป์ ปวส.สื่อฯ บ้านราชฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น