วันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

# ฝึกจิตแบบพุทธกับแบบฤาษีนั้น จะมีความแววไวต่างกัน

ฝึกจิตแบบพุทธกับแบบฤาษีนั้น จะมีความแววไวต่างกัน

ได้พบเจอกับ บรรดาน้องสาวพ่อครูสมณะโพธิรักษ์ หลายคน(ทุกคนล้วนอายุไม่ต่ำกว่า 60-70 ปี เป็นลูกของลุงหมอสุรินทร์ พรหมพิทักษ์) ที่มาร่วมงานปีใหม่เพื่อฟ้าดิน 2561 ที่บวร ราชธานีอโศก และได้ขึ้นไปกราบนมัสการพ่อครู พอตอนจะกลับ พ่อครูเปิดโทรทัศน์ ซึ่งกำลังฉายรายการสัมภาษณ์ ดร.แสวง กับ คุณโจน จันได อยู่ จึงสนใจและหันไปดู แต่ทว่า!!! ฟังไม่รู้เรื่องเลย เพราะเสียงโทรทัศน์ที่เปิดพร้อมกัน 3 จอ ดังมากพอๆกัน จึงได้หันไปถามพ่อครูว่า  จะฟังออกได้อย่างไรนี่???
พ่อครูก็เมตตาบอกกับพวกเขาสั้นๆว่า…“ก็ตั้งเจตนา ว่าจะฟังอันไหน ก็ใช้สติ จดจ่อ ฟังอันนั้น ทำอย่างนี้ฝึกอย่างนี้ได้ก็อยู่กับโลกเขาได้สบาย”




ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าที่ห้องทำงานพ่อครู จะมีโทรทัศน์จอใหญ่ถึงสามจอด้วยกัน และไม่ได้เปิดทีละจอนะ แต่เปิดเสียงดังพร้อมกันสามจอด้วย เคยได้ฟังมาว่า พ่อครูก็ดูอย่างนี้มานานหลายปีเป็นปกติ จะดูจอไหนก็เลือกฟังได้โดยไม่ต้องไปดับจออื่นแต่อย่างใด บางทีมีคนมาคุยด้วยพ่อครูก็ยังคุยกับคนที่มาได้อีก และบางครั้งก็ทำงานพิมพ์หนังสือไปด้วยอีก เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่า พ่อครูทำได้อย่างไร จิตของพ่อครูมีความวิเศษสามารถแยกแยะและทำงานได้หลายอย่าง สลับไปสลับมาได้โดยไม่สะดุดไม่ติดขัด ไม่น่าเชื่อว่า คนอายุ 84 ปีแล้ว จะมีความแววไว ไหวพริบ มีพลังสติปัญญา ที่ไม่ถดถอยไปตามอายุเลย ทั้งร่างกายและจิตใจยังคงคล่องแคล่วปราดเปรียว ได้ขนาดนี้


เราลองมาถอดบทเรียนกันตามประสาดูว่า ทำอย่างไร จิตเราจะมีประสิทธิภาพแบบนี้ได้บ้าง แม้ไม่มากก็น้อย เพราะโลกในยุคโลกาภิวัฒน์นั้น มีสิ่งกระตุ้น สิ่งเร้า สิ่งลวง ให้จิตใจหวั่นไหวไปกับกิเลส ตัณหามากมาย ซึ่งเป็นเหตุ เป็นตัวกวน ให้จิตเราขุ่นมัว ไม่แววไว ไม่คล่องแคล่ว ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานนั่นเอง แต่ว่าพ่อครู ท่านได้ฝึกจิตให้อยู่เหนือทั้งกิเลสทั้งปวงได้อย่างถาวรไม่กลับกำเริบแล้วนั่นเอง และท่านก็สั่งสมจิตบริสุทธิ์ปราศจากกิเลสอย่างนี้ มานานนับชาติไม่ถ้วน จิตของท่านจึงปราศจากตัวกวนให้จิตขุ่นมัว จิตจึงมีประสิทธิภาพได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้ดูอย่างไรพ่อครูก็ไม่เหมือนคนวัย 84 ปีทั่วไปเลย


หากจิตไม่มีอาการ “ดูดหรือผลัก” “ชอบหรือชัง” ไปกับ “สิ่งเร้า” หรือ “ผัสสะ” นั้น… “สิ่งเร้า”เหล่านั้นก็ไม่สามารถ “ดึงดูด”ให้จิตใจเราไปสนใจได้ หรือหากจิตเรา “ไม่ดูดไม่ผลัก” เราจะกำหนดจิตให้สนใจใส่ใจกับ “ส่ิงเร้า”อันไหน เราก็เลือกทำได้ โดยที่ไม่มี “อาการดูด-อาการผลัก” ไม่เกิดอารมณ์ “สุข-ทุกข์” มีแต่ อารมณ์ “ไม่สุข-ไม่ทุกข์” หรือ “อุเบกขา” ไปในการสัมผัสกับ “สิ่งเร้า”นั้น ทำให้ “รู้ความจริงตามความเป็นจริง” ก็จะเลือก “ทำสิ่งที่ควร” ได้ในทุกขณะ
กลไกตามธรรมชาติของคนที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นจิตนิยาม มีอวัยวะการรับรู้ที่มีปราสาทสัมผัสที่พัฒนาที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในโลกนี้แล้ว สามารถรับรู้ได้ทั้งหมดเพียง 6 ทวารรับรู้ คือ “ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ”
เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายสัมผัสเสียดสีเย็นร้อนอ่อนแข็ง ทวารใจที่มีพลังงานจิต ก็จะรับรู้โดยอัตโนมัติ รวม (ตา+รูป+จิตรับรู้) = ผัสสะ และจะมีเจตสิกตัว “สังขาร” มาปรุงแต่ง “ผัสสะ”นั้น ให้เกิดเป็น “เวทนา”(สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) ตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” นั่นเอง


แต่กรณีที่ แม้ว่าคลื่นเสียงจะกระทบกับแก้วหูที่มีประสาทหูรับรู้ได้ไม่บกพร่อง แต่ว่าถ้า “จิตเราไม่ได้ไปกำหนดรู้”(สัญญาไม่ทำงาน) เสียงนั้นก็ไม่ทำให้เกิดเป็น “ผัสสะ” ไม่ทำให้เกิด “เวทนาสุขหรือทุกข์” เช่นว่า ถ้าไปถามคนที่กำลังเหม่อลอย ว่าได้ยินเสียงนี้ไหม คนนั้นก็จะบอกว่าไม่ได้ยินเสียงอะไรหรือไม่ก็ได้ยินแต่ว่าไม่รู้เรื่องว่าคือเสียงอะไร เป็นต้น
แม้ว่าโทรทัศน์จะส่งเสียง ส่งภาพ มาพร้อมกันสามจอ เสียงและแสงก็มากระทบกับประสาทหูและประสาทตาคนนั้นๆ แต่ถ้าคนๆนั้นไม่ได้กำหนดจิตใส่ใจ หรือเอาใจไปรับรู้(โคจรรูปไม่ทำงาน) ผัสสะก็ไม่เกิด เมื่อผัสสะไม่เกิด เวทนาก็ไม่อาจมีได้(ตามปฏิจจสมุปบาท)  ก็เหมือนไม่ได้ยินเสียงอะไรนั่นเอง ทั้งที่เสียงกระทบหูประสาทรับรู้ก็มีอยู่ด้วย
เมื่อเสียงมากระทบแห้วหู มีประสาทหูรับรู้ โดยปกติแล้ว จิตมันก็จะรับรู้ไปโดยอัตโนมัติ เกิดเป็นผัสสะ แล้วปรุงแต่งไปด้วย “ความชอบหรือความชัง”อย่างเป็นอัตโนมัติ เกิด “อารมณ์สุขหรือทุกข์”ตามมาอย่างเลี่ยงไม่พ้น
เช่นว่า เมื่อมาเจอแสงเสียง ที่ส่งออกมาพร้อมกันหลายจอ เสียงที่ดังมากระทบแก้วหู ทีละหลายแหล่งเสียง ถ้าฟังรวมๆ ก็จะไม่รู้เรื่อง เพราะดูเหมือนจะต้องรับเสียงทั้งหมด ซึ่งดังพอๆกัน ทำให้ไม่รู้เรื่อง สับสนไม่รู้ว่าจะกำหนดจิตให้ฟังหรือสนใจใส่ใจต่อเสียงไหน ยิ่งถ้ามี “ตัวรำคาญหรือไม่ชอบใจ”ปนอยู่ด้วย ก็ทำให้จิตไม่มีกำลังจะกำหนดรู้ตามที่มีมโนสัญเจตนาหรือความมุ่งหมายจะให้ทำ ผลก็คือฟังไม่รู้เรื่อง
หรือเมื่อมีสิ่งอื่นที่สามารถดึงดูดจิตใจเราให้ไปสนใจได้มากกว่าที่เรากำหนดว่าจะใส่ใจ เราก็จะควบคุมเจตนาของเราได้ยากขึ้น ถ้าสิ่งดึงดูดนั้นมากกว่าความตั้งใจ เราก็จะไม่สามารถโฟกัสในสิ่งที่เราตั้งใจไว้แต่แรกได้ในที่สุด
ผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ผู้ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์ของชีวิต จึงต้องเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่เหนือส่ิงเร้าสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น ทั้งภายนอกและภายในจิต


ในพระไตรปิฎก ล.17 ข้อ 232 เอสนาสูตรที่ 1 พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง การแสวงหา 3 อย่าง คือ คนเราเกิดมาก็จะมีการแสวงหา 3 อย่างนี้ คือ 1.กาม 2.ภพ และ 3.พรหมจรรย์
1.การแสงหา “กาม” คือ การแสวงหาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็น “กามภพ”
2. การแสวงหา “ภพ” คือ การแสวงหาทางทวาร ใจ คือ “รูปภพ และอรูปภพ”
3.การแสวงหา “พรหมจรรย์” คือการแสวงหา ความหลุดพ้นจากยึดถือในกามและภพ นั่นเอง
เหตุของ “ภพ”(กามภพ-รูปภพ-อรูปภพ) ก็คือ “ตัณหา” (ในปฏิจจสมุปบาทมีลำดับคือ... อวิชชา-สังขาร-วิญญาณ-นามรูป-อายตนะ-ผัสสะ-เวทนา-ตัณหา-อุปาทาน-ภพ-ชาติ-ชรามรณะ-โสกะ ปริเทว ทุกข์ โทมนัส อุปายาส)
ตัณหา มี 3 อย่าง ซึ่งก็เป็นไปเป็นตัวก่อ ภพ 3 นั่นเอง ตัณหา 3 ประกอบด้วย
  1. กามตัณหา คือความอยากในการสัมผัสทาง  ตา หู จมูก ลิ้น กาย
  2. ภวตัณหา คือความอยากทางทวาร ใจ คือ “รูปภพ และอรูปภพ”
  3. วิภวตัณหา คือ ความอยากที่จะหมดกามตัณหา ภวตัณหา คือความต้องการพรหมจรรย์นั่นเองสำหรับเสขบุคคล หรือว่าหมายถึง ความต้องการของผู้ที่หมดกามตัณหาภวตัณหาได้แล้วนั่นเอง สำหรับอเสขบุคคล จึงเป็นตัณหาอุดมการณ์ที่จะทำความดีช่วยเหลือโลกนี้ต่อนั่นเอง


และ“ตัณหา”นั้นจะแสดงออกได้ 3 ลักษณะตามกิเลสรากเหง้า คือ “ราคะ(โลภะ)-โทสะ-โมหะ”
1.พลังงานไฟราคะ(โลภะ) อาจเรียกตามลักษณะของแรงได้ว่า พลังงานดูด
2.พลังงานไฟโทสะ ที่อาจเรียกว่า พลังงานผลัก
3.พลังงานไฟโมหะ  ก็คืออาการจิตที่ไม่รู้ว่ามี อาการราคะ(โลภะ) หรือโทสะหรือไม่นั่นเอง


ตัณหาหรือความอยากนี้จะออกมาทำงานแสดงตัว เพื่อสนองตอบให้ถึงจุดที่ยึดถือไว้หรือที่เรียกว่า “อุปาทาน” นั่นเอง เป็น “จุดสุดยอดของตัณหาหรือความต้องการ” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “climax” นั่นแหละ ยกตัวอย่างง่ายๆว่า หากกินก๋วยเตี๋ยวไม่ปรุงรสให้ถึงจุดที่เรายึดถือว่าอร่อยที่สุด แซบที่สุด เราก็ไม่รู้สึกว่ากินแล้วอร่อยถึงจุดสุดยอดที่ตนได้ยึดถือไว้นั่นเอง และเมื่ออร่อยจนถึงจุดที่สุดยอด ก็สั่งสมลงเป็น “อุปาทาน”เพิ่มขึ้นนั่นเอง


“อุปาทานหรือความยึดถือ” จะเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก เพราะเป็นพลังงานนิ่ง(Static)ในจิต แต่จะรู้ได้ก็ตอนที่ “อุปาทาน”เหล่านี้ออกมาทำงานเมื่อมีสิ่งกระตุ้น โดยที่อุปาทานเมื่อออกมาทำงาน ก็จะแปรสภาพเป็นพลังงานเคลื่อนที่เรียกว่า “ตัณหา” คือ “ความอยาก” นั่นเอง ซึ่งมีลักษณะของพลังงานเป็นพลังงานเคลื่อน(Dynamic) ซึ่ง “ตัณหา”นี้แหละที่เราจะรู้ได้ชัด และสามารถกำจัดมันออกไปได้ เพราะมันเคลื่อนออกมาให้เรารู้ได้นั่นเอง การจัดการกับ “กามตัณหา-ภวตัณหา” จึงคือการลดอุปาทานลงไปได้ด้วยนั่นเอง
การจะศึกษาอ่านรู้เพื่อกำจัด ตัวรากเหง้า ไฟราคะ-ไฟโทสะ-ไฟโมหะ ได้นั้น ต้องศึกษาจาก การสัมผัสทางทวารทั้ง 5 แล้วมีจิตไปรับรู้ เป็นเบื้องต้นก่อน คือต้องมีผัสสะเป็นเหตุ(ในมูลสูตร มีผัสสะเป็นสมุทัย) ทำให้เกิดเวทนา(สุข-ทุกข์-ไม่สุขไม่ทุกข์) “เวทนาจึงเป็นกรรมฐานเดียวของศาสนาพุทธ” ที่ทำให้เราอ่านรู้ถึงพลังงานตัณหา อันมีพลังงาน ไฟราคะ-ไฟโทสะ-ไฟโมหะ ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดตัณหานั่นเอง


“โลภะ” คือพลังงานความดูดดึงต่อสิ่งเร้า ผลักดันให้เกิดความอยากได้วัตถุนั้นมาเป็นของเรา เมื่อได้มาสมอยากก็เกิดความสุข สั่งสมเป็นความยึด(อุปาทาน)ในคลังอัตภาพทุกๆขณะที่เกิดความสุข แต่ถ้าไม่ได้สมความอยากก็เกิดความทุกข์ เมื่อได้สมความอยากสมโลภะแล้วก็พักยกชั่วคราวก็รู้สึกเฉยๆคือไม่สุขไม่ทุกข์
“ราคะ” คือพลังงานดูดดึงต่อสิ่งเร้า ผลักดันให้เกิดความอยากได้มาสัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อได้มาก็สมอยากก็ เกิดอารมณ์สุข แต่ถ้าไม่ได้สมอยากก็เกิดอารมณ์ทุกข์ หรือไม่ก็พักยกชั่วคราวไม่สุขไม่ทุกข์ก็เป็นได้บางคราว


พลังงานดูด เมื่อกิเลส “ราคะหรือโลภะ”ทำงาน ก็จะทำให้เกิด “ความอยาก” ไม่ว่าจะอยากได้มาเป็นของตน(โลภะ)หรืออยากได้มาเสพทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส(ราคะ) ก็ทำให้เกิดทุกข์แล้วทันที(นรกเร่าร้อนเกิดทันทีเพราะพลังงานไฟราคะ โทสะ)  พระอรหันต์จึงบอกว่า “มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป” พระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่หมดสุขได้อย่างถาวร ส่วนทุกข์อริยสัจนั้น พระอรหันต์ก็ดับได้ถาวร เหลือแต่ทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้เท่านั้น (ทุกข์จากความเกิดแก่เจ็บตาย ทุกข์จากความหิวกระหาย ทุกข์จากความร้อนความเย็น อุจจาระ อุจาระปัสสาวะ ทุกข์เพราะโรคภัย ทุกข์เพราะต้องหาอาหารเลี้ยงชีพเป็นต้น)
“ความสุข”เป็นเพียงอารมณ์ที่เกิดจากการได้ตอบสนองต่อความอยาก(ตัณหา)เท่านั้น เมื่อได้บำบัดสมความอยากจึงเกิดความสุข และก็สั่งสมลงเป็นอุปาทานต่อไป คือยึดถือว่า ต้องได้อย่างนี้แหละ(จุดสุดยอดหรือ climax) จึงเป็นสุข แต่ว่าก่อนจะได้พบกับสุขนั้น ทุกข์ก็เกิดก่อนเสมอ ความสุขจึงคือการบำบัดเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น ใครคงเคยได้ยินคำกล่าวของพ่อครูที่ว่า… ความสุข(สวรรค์)คือหม้อต้มความทุกข์(นรก) ใครโดดเข้าไปก็สุกเลย” นั่นเอง
“ความสุข” แท้จริงเป็นอารมณ์หลอก(สุขขัลลิกะ) แต่คนเราก็มักหลงว่าสุขนี้มีจริง และก็หลงเสพความสุขใน “กามคุณ โลกธรรม และอัตตา” จนยึดถือว่ามันเที่ยงแท้ถาวร ต้องอยู่กับเราไปนิรันดร เราไปยึดถือว่ามัน เป็น“ตัวเรา”(อัตตา) เป็น“ของเรา”(อัตตนียา) มานานนับชาติ  หากมีอะไรมาพรากสิ่งที่เป็นตัวเรา(อัตตา)เป็นของเรา(อัตตนียา) ออกไป หรือสิ่งที่เป็นตัวเราของเรานั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปเสื่อมไป สูญไป เราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นได้
พลังงานผลัก คือ “กิเลสโทสะ” นั้นเกิดขึ้น เมื่อไม่ได้สมความอยาก กิเลส “โทสะ”ก็จะปรากฏให้เห็นต่อมาทันที แม้กระทบกับสิ่งที่ได้มีความยึดถือ “อุปาทาน”อยู่แล้วว่าไม่ชอบ ไม่อยากได้ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ก็จะเกิด ความทุกข์ เพราะมีพลังงานผลักหรือโทสะนี้เข้าไปร่วมปรุงแต่งในผัสสะนั้น
หรือแม้แต่เมื่อมีใครมาพรากเอาความเป็น “ตัวเรา-ของเรา”ให้เปลี่ยนแปลงไป ให้เสื่อมให้สูญไป โทสะก็จะปรากฏให้เห็นได้ด้วย โดนปรากฏในทางลักษณะพลังงานผลักสิ่งที่จะมาทำลาย “ตัวเรา-ของเรา”ให้พ้นออกไป  ก็เป็นกลไกการปกป้องตัวเรา(อัตตา) และของเรา(อัตตนียา) ซึ่งเป็นสัญชาติญาณดิบที่สั่งสมมาตั้งแต่เป็นสัตว์หรือจิตนิยามมานานนับชาติ


ความเป็นจริงในชีวิตประจำวันของคนทุกคน ก็จะมีอะไรทำให้เกิดความอยาก(กามภพ ภวภพ)มากมาย  มีทั้งที่เกี่ยวกับ ภายนอกจิต เป็นกามคุณ 5 เป็นโลกธรรม 8 หรือ มีที่เกี่ยวกับแต่ภายในจิต คือโลกธรรม มโยมยอัตตา(อัตตาที่สำเร็จด้วยจิต) อรูปอัตตา เป็นอัตตามานะ ความอยากเอาชนะคะคาน ความกลัว ความผิดหวัง ฯลฯ ซึ่งมีอีกมากมายเหลือเกิน การจะให้ทำไปรู้หรือจัดการไปทั้งหมดทีเดียวนั้นเป็นไปไม่ได้ นอกจากคนมีบารมีใกล้บรรลุเป็นอรหันต์แล้วเท่านั้น ดังนั้น พระพุทธเจ้า ท่านจึงได้บอกถึงขั้นตอนการเรียนรู้ไปเป็นลำดับ เป็นกรอบ เป็นรอบของแต่ละคน ที่จะไม่เหมือนกัน


ความต้องการแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Need, desire, Want, Demand, Require  มีนักจิตวิทยาชื่อ มาสโลว์ ได้คิดทฤษฏีเกี่ยวกับความต้องการไว้ ดังนี้


ทฤษฏีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow is Theory of Need Gratification)


มาสโลว์ (Maslow) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมาดีและพร้อมที่จะทำสิ่งดี ถ้าความต้องการของมนุษย์ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ มาสโลว์ (Maslow) เป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้าถึงความต้องการของมนุษย์ โดยมองเห็นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนแต่มีความต้องการที่จะสนองความต้องการให้กับตนเองทั้งสิ้น ซึ่งความต้องการมนุษย์ มีมากมายหลายอย่างด้วยกัน เขาได้นำความต้องการเหล่านั้นมาจัดเรียงเป็นลำดับจากขั้นต่ำไปขั้นสูงสุดเป็น 5 ขั้น ด้วยกัน


1. ความต้องการด้านร่างกาย (physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ความต้องการอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การพักผ่อน ความต้องการทางเพศ ความต้องการความอบอุ่น ต้องการขจัดความเจ็บป่วย และต้องการรักษาความสมดุลของร่างกาย ทุกคนต้องการสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน อาจแตกต่างกันเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเพศ วัย และสถานการณ์ ฯลฯ ความต้องการปัจจัย 4 ดังกล่าวข้างต้น หากเพียงพอแล้ว มนุษย์จะพัฒนาในขั้นต่อไป


2. ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (safety needs) เมื่อได้รับความพึงพอใจทางด้านร่างกายแล้ว มนุษย์จะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สองคือ ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย สิ่งที่แสดงถึงความต้องการขั้นนี้คือ การที่มนุษย์ชอบอยู่อย่างสงบ มีระเบียบวินัย ไม่รุกรานผู้อื่น ความต้องการระดับนี้อาจแยกย่อยได้ดังนี้
_ความมั่นคงในครอบครัว การมีบ้านแข็งแรงปลอดภัย มีความรักใคร่ปรองดองกันในครอบครัว
_ความมั่นคงปลอดภัยในอาชีพ มีรายได้ยุติธรรม ไม่ถูกไล่ออก งานไม่เสี่ยงอันตราย ผู้บังคับบัญชาดีมีความยุติธรรม ฯลฯ
_มีหลักประกันชีวิต เช่น มีผู้ดูแลเอาใจใส่ยามชรา ยามเจ็บไข้


3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (belongingness and love need)
ความต้องการมีเพื่อน
ความต้องการการยอมรับจากกลุ่ม
ต้องการแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม
ต้องการรักคนอื่นและได้รับความรักจากคนอื่น
ต้องการความรู้สึกว่าสังคมเป็นของตน


4. ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง และความภาคภูมิใจ (sefl- esteem need) ได้แก่
ต้องการยอมรับความคิดเห็นหรือข้อเสนอ
ต้องการเกียรติยศชื่อเสียงจากสังคม
ต้องการนับถือตนเอง มีความมั่นใจตนเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
ต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น
ต้องการความมั่นใจในตนเอง และรู้สึกตนเองมีคุณค่า


5. ความต้องการตระหนักในตนเอง (self-actualization need) ได้แก่
ต้องการรู้จักตนเอง ยอมรับตนเอง เปิดใจรับฟังคำวิจารณ์โดยไม่โกรธ
ต้องการรู้จักแก้ไขตนเองในส่วนที่ยังบกพร่อง
ต้องการพัฒนาตนเอง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเกี่ยวกับตนเอง
ต้องการค้นพบความจริง พร้อมที่จะเปิดเผยตนเองโดยไม่มีการปกป้อง
ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง


ความต้องการเหล่านี้ ทางโลกทั่วไป ถือว่า เป็นเหมือนบันไดที่เราจะต้องได้มาเป็นลำดับ แม้แต่ศาสนาเทวนิยมก็จะให้สั่งสมความต้องการเหล่านี้ ซึ่งถือเด็นคุณงามความดี และดีที่สุดก็คือ ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้า อยู่นิจนิรันดร ไม่มีวันสลาย  ซึ่งต่างจากความเห็นของพุทธศาสนาที่เราต้องสละออกไปเป็นลำดับๆ จะหมดความต้องการ อันหมายถึงหมดความยึดถืออุปาทานได้ในที่สุด สามารถสลายตัวตนไปเป็นลำดับจนปรินิพพานเป็นปริโยสานได้


เมื่อเกิดความอยากขึ้น วิธีการที่คนปกติสามัญทำเมื่อเกิด “ความอยาก” หรือ “ตัณหา” ก็คือ
1. สนองตอบต่อความอยาก จนกว่าจะถึงจุดสุดยอดของความต้องการที่มีอุปาทาน(ความยึดถือ)นั้นไว้
2. ระบายออกหรือกดข่ม ด้วยวิธีการต่างๆตามความเคยชิน


ซึ่งทั้งสองวิธีก็จะมีผลได้แค่ การบำบัด ความอยากหรือความไม่อยาก ได้ชั่วคราว
ปุถุชน และ กัลยาณชน ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมที่มิจฉาทิฏฐิ ก็ล้วนแล้วแต่ใช้สองวิธีนี้เท่านั้นในการจัดการต่อ ตัณหา “กัลยาณชน”ก็จะทำได้เพียงกดข่มกิเลสได้ชั่วคราวแล้วเวียนกลับไปทำอีกแล้วๆเล่าๆ ส่วน “ปุถุชน”นั้นมีแต่จะทำให้กิเลสเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาหรือก็สามารถกดข่มได้ชั่วคราว แต่ทั้งปุถุชนและกัลยาณชน ล้วนแต่ไม่สามารถทำให้กิเลสดับได้ถาวรนั่นเอง


มีเพียงแต่ “อาริยบุคคล”ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป จึงจะสามารถทำให้กิเลสลดลงได้ดับได้เป็นลำดับอย่างถาวร ไม่กลับกำเริบอีก ในส่วนที่ดับได้นั้นๆ แล้วพัฒนาตนเองไปจนถึงพระอรหันต์ก็ดับกิเลสได้สมบูรณ์ไม่กลับกำเริบได้อีกนั่นเอง
และพระพุทธเจ้าก็สอนให้ลดกิเลสตัณหาไปตามลำดับ ไม่ได้สอนให้ทำทีเดียวหมด เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และไม่เป็นลำดับ ท่านสอนให้ลดกิเลส ตัณหา ไปตามลำดับของศีล เร่ิมตั้งแต่ ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 จุลศีล(26) มัชฌิมศีล(10) ไปทีละกรอบๆ (กิเลสตัณหานี่แหละเป็นตัวพาผิดศีล)
พ่อครูมีคำสอนที่เป็นไปตามลำดับในการปฏิบัติธรรมตอนหนึ่งว่า.. “คนทั่วไปคือคนไม่มีศีล เรียกว่าปุถุชน และก็กัลยาณชน แต่กัลยาณชนมีรายละเอียดลงไปอีก แต่ปุถุชนนี้ไม่แน่นอนแน่ ไม่ได้มีศีลมั่นคงอะไร กัลยาณชนสามารถมีศีลได้บ้างแล้ว สามารถตั้งใจปฏิบัติ ให้ศีลสั่งสมลงไปแข็งแรงมั่นคงได้เหมือนกัน ได้ยาวนานเหมือนกัน แต่ไม่มีปัญญา อัญญา ไม่มีบุญ ไม่สามารถชำระกิเลส ไม่รู้จักกิเลสอย่างเป็นลำดับ เหมือนศาสนาพุทธ
ต่อให้กดข่มเก่ง สามารถ แต่ไม่เที่ยงแท้ ไม่สามารถทำเป็นเบื้องต้นท่ามกลาง บั้นปลาย เป็น สัจญาณ กิจญาณ กตญาณ ไม่สามารถจบได้เป็นลำดับอย่างน่าอัศจรรย์
คนทั่วไปคือคนไม่มีศีล หรือมีศีลบ้างเป็นกัลยาณชน แต่มีได้แค่กุศล ไม่ถึงบุญ กุศลที่สูงสุด ศีลที่เป็นกุศลย่อมยังให้ถึงความเป็นอรหัตผลไปโดยลำดับ เพราะถ้าศีลที่ไม่เป็นกุศลเลยก็ยังไม่เป็นลำดับอะไรได้ แม้เป็นกุศลที่ค่อยๆเจริญไปจนสุด ปลายกุศลคือการรู้จบ รู้จักกิเลสตัดกิเลสได้
ถ้าเริ่มรู้จักกิเลส ก็ทำลายกิเลสได้ เป็นบุญไปตามลำดับ กุศลเจริญเริ่มต้นเป็นพระโสดาบัน เริ่มต้นมีส่วนบุญ เช่นพ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา พ้นสีลพตปรามาส ได้ พ้นจักรวาลน้อย 3 องค์ได้รอบหนึ่งแล้ว เป็น cyclic order เริ่มต้น โสตาปันนะ เข้ากระแส ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา อวินิปาตธรรม แต่ยึกยักแช่ ดีไม่ดีโสดาบัน ลงไปเละกับโลก ถึง 7 ชาติ 7 รอบ ไม่ใช่เกิดจากท้องแม่ 7 รอบนะ แต่เป็น 7 วัฏฏะ เพราะฉะนั้น เที่ยวไปเละเทะ โสดาบัน วัฏฏภิรตโสดาบัน อย่างเช่นนางวิสาขาไม่ลงไปหาอบายมุข
มีโสดาบันบางอย่างไปเปื้อนกับโลกียะแล้วก็วนไปได้ แต่พวกนี้ถ้าไปวนสู่โลกียะ วนไปได้ 7 รอบเท่านั้นแหละ เรียก สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน ถ้าเกิน 7 รอบนี้ ไม่ใช่โสดาบันแล้ว เป็นโซดาไปเติมอะไรแล้ว ถ้าใครกิเลสตกเกิน 7 รอบไม่ใช่โสดาบันแล้ว ระวังคนมาอโศกเข้ามาเกิน 7 ครั้งก็ยังมาไม่ได้ มันไม่ใช่โสดาบันแล้ว ที่อาตมาว่ามาศึกษา 7 ครั้งถึงบริจาคได้ก็เอาหลักนี้มาใช้
คนทั่วไปไม่มีศีลหรือมีศีลไม่เที่ยงแท้เป็นกัลยาณชน เพราะไม่มีอำนาจพลังงานระดับบุญ ไม่มีญาณปัญญาที่เกิดอัญญธาตุ จิตยังไม่เข้ากระแส ดีได้ถึงเป็นศาสดาเทวนิยมได้ยิ่งใหญ่แต่วน ไม่รู้จัก จิตเจตสิกรูปนิพพาน ไม่รู้รายละเอียดของปรมัตถธรรม อาจรู้แต่สับสน เรียงลำดับไม่ได้ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไม่ได้ อาจดีได้จนหลงเป็นนิรันดร หลงสูงสุดคือได้ถาวรนิรันดรแล้วเป็นศาสดานะ แต่ของพุทธไม่มีนิรันดร มีอนัตตา อัตตานิรันดรไม่มี เพราะศาสนาพุทธอนัตตาไม่นิรันดร์มีที่สุด
ของโลกียะเทวนิยมมีแต่ดีกับชั่วไม่รู้จักตัวตัดขาดหลุดพ้น ไม่รู้จักสุญญตา อนัตตา ศาสนาพุทธนี้ดีได้ด้วย อย่างเที่ยงแท้ ไม่วนเดี๋ยวต่ำเดี๋ยวสูง ดีๆชั่วๆ สมบัติผลัดกันชม แต่ของพุทธโลกุตระดีได้เที่ยง ไม่วนต่ำอีก เป็นขั้นๆไป เหมือนในจอกน้ำมีฝุ่น จับตัวฝุ่นได้ก็เอาออกทีละฝุ่น จนฝุ่นไม่เหลือเลย จะกวนน้ำอีกเท่าไหร่ก็ใสไม่ขุ่น แต่ของทางนั้นไม่ได้เรียนเม็ดของฝุ่นของกิเลส แต่กดข่มได้แน่นแข็ง สึนามิมาก็ไม่เคลื่อนเลย แผ่นดินไหวก็ไม่แตกเลยนอนก้นแก้ว ต้องมหาสึนามิถึงแตกมีฝุ่นมาบ้าง เรื่องของเวลานี้ยาวนานอย่าไปพูดถึงเลย เทียบกัปป์แต่ละกัปป์ยาวนานมากเลย
คนปกติเป็นกัลยาณชนได้ แต่ไม่เที่ยง ของพุทธโสดาบันนี้เที่ยงไประดับหนึ่งแล้ว สกิทาฯนี้ยาว กรอบยาว จนกว่าจะหมดกามภูมิ ก็เป็นรูปภูมิ อรูปภูมิ เป็นอนาคามี แต่เสร็จแล้วมีสัจญาณ กิจญาณ กตญาณ ของพุทธจึงมีที่จบ
อาริยชนคือผู้มีกุศลระดับบุญไปจนหมดบุญ นับแต่เสขบุคคล โสดาฯ สกิทาฯ อนาคาฯ จนถึงอรหันต์เป็นอเสขบุคคล
ผู้ที่จบแต่ละบุญๆ จึงเป็นคนที่อยู่กับกุศลเป็นเครื่องอาศัย โสดาฯก็มีกุศล สกิทาฯก็มีกุศลแน่นอน อนาคาฯก็เช่นกัน ได้กตญาณตามแต่ละที่ได้ มีกุศลเป็นเครื่องอาศัย บุญไม่ใช่เครื่องอาศัย บุญเป็นอาวุธ เหมือนเขี้ยวเล็บ พิษ หรือระเบิดปรมาณู ใช้ปั๊บก็หมดไป แม้เล็บก็สึกไป”  (600807_พุทธศาสนาตามภูมิ)


จุดแบ่งแยกระหว่าง “อาริยบุคคล”(พระโสดาปัตติมรรคเป็นต้นไป) กับ “กัลยาณชน-ปุถุชน” คือ “การทำใจในใจ”(โยนิโสมนิสิการ) หรือการปฏิบัติกับใจของตนให้กิเลสลดลงไปได้หรือไม่นั่นเอง


ชาวพุทธหรือไม่ว่าจะเป็นศาสนิกของศาสนาใดๆทั่วไปนั้น จิตใจมีแนวโน้ม มีความเชื่อ หรือชื่นชอบใจ ติดใจ ในการทำจิตให้สงบแบบ รวมๆ ให้จิตนิ่ง ดูใส ซึ่งก็ทำได้ง่าย และคนสามัญแม้ไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็สามารถทำได้อยู่แล้ว คือกดข่มตามมารยาท ไม่ให้กิเลสแสดงออกมาเพ่นพ่านให้ขายหน้า แต่ก็ไม่ได้ทำให้กิเลสลดลงหรือหมดไปได้แต่อย่างใด กิเลสก็ยังตกตะกอนนอนก้นอยู่ภายในจิตส่วนลึก และพร้อมออกมาทำงานได้หากมีส่ิงล่อ
ดังนั้นเมื่อเวลาเจอผัสสะโดยที่ไม่ทันตั้งสติ จิตก็จะปรุงแต่งด้วยกามหรือพยาบาท ดูดหรือผลัก โดยอัตโนมัติ เกิดอารมณ์ขุ่นมัว เหมือนตะกอนที่ถูกกวนมาลอยให้เห็นทั่วจอกแก้วนั้นได้ เกิดเป็นเวทนา สุข หรือทุกข์ ตามกลไกของอัตโนมัติที่มีกิเลสบงการ
และคนเราก็เคยชินที่จะหาทางออกจากความทุกข์ จากการไม่ได้สมตัณหา ด้วยการใช้สมถะกดข่ม เช่น เดินหนี วิ่งหนี ทำเป็นไม่สนใจ การใช้มารยาทสังคม การหันเหความสนใจไปทำสิ่งอื่น นับเลขในใจ ทำใจเย็นๆ หรือแม้แต่การใช้คาถาบอกตัวเอง เช่นว่า พูดในใจว่าอย่าโกรธๆๆ หรือวางใจเสีย หรือทุกอย่างล้วนไม่ใช่ตัวตนไม่มีตัวตน หรือจะใช้พูดในใจว่า พุทโธ ยุบหนอพองหนอ ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นวิธีการ “หนีผัสสะ”เป็นวิธีการ“กดข่ม” อันเป็นวิธีทำใจในใจของคนธรรมดาสามัญปุถุชนหรือกัลยาณชน ที่ไม่ต้องเรียนต้องฝึกกันก็ทำเป็นกันอยู่แล้ว หรือแม้เรียนแม้ฝึกมา แต่มิจฉาทิฏฐิ ก็ยิ่งเป็นการกดข่มได้แบบชำนาญ ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นคนใจเย็น แต่นานๆไปก็ระเบิดกิเลสออกมาได้ ถ้าพลังงานกดข่มสมถะนั้นไม่พอ หรือแม้จะมีพลังงานสมถะไว้มาก แต่ว่าสักวันหนึ่ง หากพลังงานสมถะลดลงไป ตะกอนกิเลสก็ฟุ้งขึ้นมาอยู่ดี เพราะมันไม่ได้หายไปไหน มันยังหมักดองและตกตะกอนนอนเนื่องใต้จิตใจ ที่เรียกว่า อาสวะและอนุสัย ที่พร้อมแตกตัวเสมอ
ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะไปมีความเข้าใจผิด เนื่องจากถูกฝังหัวมานานหลายชาติอย่างเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ว่า “การปฏิบัติธรรม มีหลักสำคัญที่สุดที่จะทำให้บรรลุธรรมได้ ก็คือการนั่งหลับตาทำสมาธิ” หรือแม้ว่ามีการปฏิบัติที่ไม่ได้นั่งหลับตาอย่างเดียว เช่นเดินจงกรม หรือการทำงานคือการปฏิบัติธรรม แต่เขาก็จะยังมีความเห็นเชื่อถือการ “นั่งสมาธิหลับตาเป็นเอกเป็นหลัก” นอกนั้นเป็นส่วนประกอบที่ไม่สำคัญเท่า หรือแม้จะปฏิบัติในรูปแบบอื่นๆอีกแต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการทำจิตแบบสมถะทั้งสิ้น
การทำจิตแบบสมถะนี้ทำได้ไม่ยาก จะหลับตาหรือลืมตาก็แล้วแต่ เพียงเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับกสิณอะไรก็ได้ ลมหายใจก็เป็นสกิณที่นิยมใช้กัน หรือบางสำนักก็กำหนดปั้นสร้างความร้อนหรือเรียกว่าเตโชกสิณ หรือกำหนดความเย็นเป็นอาโปกสิณ แม้บางสำนักก็ปั้นจิตให้เห็นลูกแก้วใสก็มี  ก็เป็นสิ่งที่จิตกำหนดปั้นเอาได้เองทั้งนั้น ก่อนพระพุทธเจ้าก็ทำกันมาซึ่งเป็นวิธีการสามัญของโลก แม้ศาสนาอื่นก็ใช้ เช่นกำหนดให้จิตใจอยู่กับพระเจ้าคือความดีงาม ก็เป็นกสิณอย่างหนึ่งได้
ซึ่งผลที่ได้ก็คือ ทำให้จิตสงบได้จริงตอนนั่งหลับตา หรือเอาจิตจดจ่อกับกสิณ แม้บางคนก็สามารถใช้การทำจิตแบบนั้นไปใช้ได้แบบลืมตาในชีวิตประจำวัน เมื่อเจอกับสิ่งเร้าหรือผัสสะ ที่จะทำให้เกิดความชอบ-ชัง หรือความสุข-ทุกข์ เขาก็จะทำใจ วางใจ แบบการนั่งหลับตาสมาธินั้นได้เช่นกัน บางคนอาจทำได้อย่างชำนาญด้วย แต่ก็จะไม่เหมือนกับการวางใจที่เกิดจากการปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ที่มีผัสสะเป็นปัจจัย มีลักษณะการวางใจแบบที่เรียกว่า “เคหสิตอุเบกขา” ซึ่งจะทำได้เพียงชั่วคราว ไม่ยั่งยืน เมื่อพลังสมถะลดลงไปถึงจุดที่ “ทนไม่ไหวแล้วโว้ย” กิเลสที่ถูกกดและสะสมไว้ก็ออกมาทำงาน เหมือนภูเขาไฟ ที่สะสมแมกม่าอยู่ภายในเพิ่มขึ้นทุกวัน เพื่อรอวันระเบิด
ผลของสมาธิแบบสมถะที่เรียกว่า เจโตสมาธินั้นเกิดได้ง่าย มีผลคือทำให้จิตสงบ สบาย โล่ง ว่าง จิตไม่มีนิวรณ์ได้ บางคนทำได้แล้วจิตก็จะสามารถนึกคิดอะไรได้สารพัด เหมือนเป็นคนมีปัญญามากไปเลยทันทีที่จิตสงบก็เป็นได้ เมื่อทำได้ผลกับจิตตน คนๆนั้นก็มักจะเชื่อมั่นว่าเป็นวิธีการทำจิตที่ถูกต้องแล้วอีกด้วย ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ได้เดินตามหลักมรรคมีองค์ 8​ เลย ไม่ได้อ่านจิตในขณะปัจจุบันที่มีการกระทบสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจิตเราไปรับรู้ร่วมปรุงแต่ง โดยมี “กาม-พยาบาท-วิหิงสา” เข้าไปร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามี เราก็ต้องทำการปหานด้วยวิธีของพุทธ ที่เรียกว่า ปหาน 5 มีทั้งหลักกดข่ม(วิกขัมภนปหาน) หลักวิปัสสนาทำได้ชั่วคราวเป็นขณะ(ตทังคปหาน) ทำได้อย่างเด็ดขาด(สมุจเฉทปหาน) ทำได้อย่างกระทบสัมผัสอย่างไรก็มีแต่ความสงบจากกิเลส(ปฏิปัสสัทธิปหาน) จนไม่ต้องทำอีกแล้วหมดสงคราม(นิสรณปหาน)  
เรื่องของการกำจัดกิเลสด้วย ปหาน 5 นี้พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ได้มีคำสอนไว้ตอนหนึ่งว่า...
“การลดลงของกิเลสมีถึง 5 ระดับ ด้วยการ ปหาน 5


1. วิกขัมภนปหาน (ละด้วยการข่มใจ-ใช้เจโตนำหน้า) คือการกดข่ม ซึ่งทำเป็นกันทุกคน เป็นสามัญคนทั่วไปก็ทำได้  เป็นสัญชาตญาณเป็นอัตโนมัติของคนอยู่แล้ว เช่น ทุกวันนี้คนมีกิเลสกามไหม คนภายนอกก็มี แต่เขาสังวร กดข่มไว้กลั้นไว้ เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดา เมื่อรู้แล้วก็ช่วยมันทำ เราก็รู้ว่ากดไว้แค่นี้ ส่วนที่เราสัมผัสทางทวาร 5 แล้วก็ต้องพิจารณาเหตุ อะไรทำให้เกิดสุขทุกข์ให้รู้อาการเหตุว่า สราคะ สโทสะ สโมหะ มันเป็นกามหรือพยาบาท แล้วจัดการมันอย่างวิปัสสนา ทุกวันนี้เขาทำอย่างแค่สมถะ ไม่ได้ทำวิปัสสนา
2. ตทังคปหาน (ละได้เป็นครั้งคราว-ใช้ปัญญาอบรมจิต) คือ พิจารณาให้ได้ว่ากิเลสมันเป็นของไม่จริงไม่เที่ยงแท้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ มันไม่มีตัวตนจริงๆเลย ปัญญาหรือ ความเฉลียวฉลาด ความเข้าใจ ธาตุรู้ของตนเอง รู้ว่า กิเลส มันมีคุณสมบัติไม่เที่ยงแท้ เดี๋ยวใหญ่เดี๋ยวเล็ก เดี๋ยวไปเดี๋ยวมา มันทำไมตลบแตลงกันนักกิเลส สอง มันเป็นเหตุแห่งทุกข์จริงๆ เพราะมันพาเราไปหาแย่งสวรรค์ แต่สวรรค์ไม่มี สวรรค์มีแต่เท็จ มันพาเราไปอยากได้สวรรค์ มันคือเหตุแห่งทุกข์ จริงๆแล้วมันไม่มีตัวตน นี่คือกฎไตรลักษณ์ ผู้ที่เห็นปัญญานี่มันแจ้งจริงๆเลย พยายามทำให้ได้หรือ พิจารณาทีใดเห็นจริงว่ากิเลส พิจารณาแล้วมันลดเป็นครั้งๆ เรียกว่าตทังคปหาน ตทังคะแปลว่าแต่ละครั้งๆ
ริงๆแล้ว วิกขัมภนปหานคือทุกคนทำเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว มันอายก็กดข่มไว้ หรือสุดทนก็แสดงออก โทสะหรือกามก็ดี ถ้าไม่สุดทนก็ไม่แสดงออก ใครๆก็ต้องไม่ให้แสดงออก กามหรือโทสะก็ตาม มันมีการกดข่มเป็นธรรมชาติ แต่เราต้องเอาจริงกับมัน โดยวิธีการที่ต้องทำคือ พิจารณาใช้เหตุผลอ่านลงไปถึงความจริงตามกฎไตรลักษณ์(กิเลสมันไม่เที่ยง มันพาทุกข์ และคุณสามารถกำจัดมัน จนมันไม่มีตัวตนได้) คุณลดได้ เป็นครั้งคราว ร่วมกัน ระหว่างการ กดข่มกับใช้ปัญญา ตทังคะ ได้เรื่อยๆ พอทำเด็ดขาดสูญได้เรื่อยๆคือสมุจเฉทปหาน
3. สมุจเฉทปหาน (ละด้วยการตัดขาด  สลัดออกได้เก่ง) สมะแปลว่าเสมอ ต่อเนื่อง วิปัสสนาทำได้คราวใดก็สำเร็จผล ตทังคปหาน เมื่อคุณทำอย่างนี้สำเร็จ เก่งขึ้น เด็ดขาดขึ้นเรียกว่า สมุจเฉทปหาน คุณทำได้เก่งขึ้นชำนาญขึ้น อาเสวนา ภาวนา พหุลีกัมมัง ทำซ้ำให้เกิดผล พหุลีกัมมัง ทำได้ถูกแล้ว ดีแล้ว ก็ทําให้มากเข้าไป ทำให้ขาดต่อเนื่องๆ ก็เด็ดขาด  ขาดโดยเราเด็ด ทำได้สำเร็จผลนานก็ ปฏิปัสสัทธิปหาน
4. ปฏิปัสสัทธิปหาน (ละด้วยการสงบระงับ  ทวนไปมา)   คำว่า ปฏิ แปลว่าทวนไปทวนมา คือรวมแล้วเป็นวิญญาณแคล่วคล่องกิเลสก็สงบลงๆ ทำสำเร็จสมบูรณ์ คือ นิสรณปหาน ไม่ต้องทำอีกแล้ว ทำกิเลส หมดได้เด็ดขาด ไม่ใช่ว่าจิตใจหยุดคิดหยุดทำงาน แต่จิตใจจะยิ่งคล่องแคล่ว มี กายปาคุญญตา คือ เวทนา สัญญา สังขาร แคล่วคล่อง มี กายกัมมัญญตา(เหมาะควรกับการงาน)
ไม่ใช่ว่าไม่คิด หยุดคิดหยุดทำงานแล้วดับมืดไปเลย อย่างนั้นเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับศาสนาพุทธ 180 องศา อย่างนั้นฤาษีชีฤาษีไพรลัทธิอื่นใดเขาทำกัน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาก็เจอลัทธิพวกนี้ ไปเจอแบบนี้ ท่านก็บอกว่าไม่ใช่ จนท่านระลึกรู้ของท่านได้ ท่านก็ทำของท่าน สอนและประกาศของท่าน อย่างที่ตรงกันข้ามกับพวกฤาษีชีไพร 180 องศา เดี๋ยวนี้ศาสนาพุทธเสื่อม กลับไปเป็นแบบฤาษีชีไพรแบบเก่า อาตมาจึงต้องมาเคาะกบาล เอามาเป็นแบบของพูดใหม่ ฟังให้ดี อย่าดื้อนัก
5. นิสรณปหาน (สลัดออกได้เองทันที  เก่งจนเป็นปกติ) คำว่า นิสรณะคือไม่ต้องสู้รบกันอีกแล้ว รณะ แปลว่ารบ สรณะแปลว่าประกอบการรบ นิ เป็นอุปสรรค คือไม่ คือไม่ต้องรบแล้วจบแล้ว สบายแล้วหยุดแล้ว คือ สลัดได้แคล่วคล่อง แตะปั๊บหลุดปุ๊บเลย เหมือนเอายาหม่องมาทาขา ปลิงมาเกาะไม่ติดเลย เป็นจิตวิญญาณที่เก่งใน การตัดกิเลส
ผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามสภาวะ ที่อาตมาอาศัยพยัญชนะบาลีของพระพุทธเจ้าตามที่มีเดิม มาอธิบาย คนที่เข้าใจแล้วเอาไปปฏิบัติจนสำเร็จผลก็ตามที่แต่ละคนทำได้จริง ทำได้นิสรณะเสมอๆ กิเลสแต่ละตัวแต่ละตัวทำได้ เผลอๆเป็นอรหันต์โดยไม่รู้ตัว
แต่คนที่ปฏิบัติแล้ว จะต้องรู้ว่าเราปฏิบัติแล้วถูกต้องไหม ได้ผลหรือยัง มีส่วนที่เหลือ เรียกว่า กามภพ รูปภพ อรูปภพที่มันยังเหลืออยู่ในองค์รวม
กามภพหมดแล้วเหลือรูปภพ อรูปภพ ก็ล้างไปตามลำดับ ดับได้หมดสิ้นไม่มีกิเลสเราก็หมด ก็ต้องพยายามศึกษารู้ด้วยญาณปัญญา เข้าใจรู้ความจริงตามความเป็นจริงเหล่านี้ คำสอนพยัญชนะสื่อให้เห็นสภาวะเหล่านี้ เข้าใจแล้วก็เอาไปปฏิบัติ
หลักปฏิบัติมีศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจะเกิดวิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ หลุดพ้นจากโลกโลกีย์ เป็นนิโรธ  แต่เรายังไม่ตาย เรายังมีชีวิตมีธาตุรู้ ส่วนที่ไม่มีคือส่วนกิเลส เหลือวิมุติ รู้ว่าเราไม่มีแล้ว วิ แปลว่าไม่ กับสุดประเสริฐ สิ่งที่ทำให้ไม่มีเราทำได้แล้ว ก็เป็นสิ่งประเสริฐ วิ เป็นสิ่งที่ใช้พยัญชนะมาสื่อกับสภาวะ ใครทำถูกต้องได้ประโยชน์ อาตมาเกิดมาชาตินี้มาทำเรื่องนี้”   (600615_เทศน์ก่อนฉัน สวนป่านาบุญ 2)


การปฏิบัติธรรมนั้น ต้องไม่หนีผัสสะ และไม่ดับจิตไปหมดทั้งยวง โดยไม่ได้แยะแยะว่า นี่อาการจิตที่มีกิเลสนะ เป็นส่วนที่ ต้องดับ ส่วนนี่อาการจิตที่เป็นกุศลนะ ไม่ควรดับ
ถ้าหากอาการกิเลสมันรุนแรงอยู่ พ่อครูมีคำสอนส่วนนี้ว่า … “วิกขัมภนปหานเป็นเครื่องอาศัย ถ้ามันแรงมากก็ต้องกดข่มไว้ก่อน ทุกคนมี การกดข่มจึงชำนาญ มีทักษะสูงขึ้น มีสมรรถนะสูงขึ้นด้วยมันช่วย สมถะจึงเป็นอุปการะมาก แต่ไม่จบที่สมถะ ต้องเรียนรู้สิ่งที่ละเอียดเพิ่มขึ้น
คุณจะเรียนรู้กิเลสละเอียด อย่าไปสะกดจิตดับให้หมด ถ้าสะกดโดยธรรมชาติ ตามสัญชาติญาณ ถ้าคุณเก่งจะปล่อยให้ปรุงแรงขึ้นก็ลดได้ ถ้าไม่เก่งก็ดับบางส่วน การปฏิบัติธรรมพระพุทธเจ้าจึงไม่ดับหมด จะสะกดประมาณหนึ่งโดยอัตโนมัติ แต่คุณเก่งขึ้นจะต่อสู้กับสิ่งที่แรงขึ้นได้ตามสัจจะ ไม่ต้องกังวลหรอก มันจะเป็นโดยอัตโนมัติ
คุณเองต้องใช้วิธีสะกดจิตหรือว่าสมถะสะกดมันไว้ โดยไม่ต้องหลับตา ไม่ต้องหนี อยู่กับภาวะปัจจุบัน การหลับตาสะกดจิตไว้ก็ดีที่เตวิชโช ส่วนจะหลับตาจะเป็นอัตโนมัติ ถ้าสัมมาทิฏฐิ ถ้าจบนึกว่าตนเป็นอรหันต์ก็ไม่ต่อสิ นึกว่าตนเองสงบแล้วจบแล้ว” (600621_พุทธศาสนาตามภูมิ)


หลักวิปัสสนานั้นมีจุดสำคัญอยู่ที่ ต้องปฏิบัติกับผัสสะในปัจจุบัน ที่มีการกระทบสัมผัส ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเกิดกิเลส ถ้าไปนึกเอาทีหลังหรือว่าเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว มันก็ไม่มีผัสสะ มีแต่สัญญา ยิ่งถ้าไปนั่งหลับตาสมาธินึกเอา ก็ยิ่งไม่เป็นวิปัสสนาที่จะเกิดปัญญาล้างกิเลสได้เลย มีแต่สัญญาล้วนๆ
ดังนั้น หลักวิปัสสนา เมื่อเห็นอาการกิเลสอยู่หลัดๆนั้น พ่อครูสอนให้ใช้หลักอ่านพิจารณาไตรลักษณ์ของอาการกิเลสขณะนั้นๆ แล้วทำปหาน 5 โดยพิจารณา ความไม่เที่ยง-ความเป็นทุกข์-ความไม่มีตัวตน
พ่อครูสอนไว้ตอนหนึ่งว่า... ที่มีรักโลภโกรธหลงก็เพราะว่า มันมีความโง่ ภาษาบาลีว่าอวิชชา เป็นมาแต่ดั้งเดิม อวิชชาคือความโง่ความไม่รู้ว่า ทำไมเราต้องมีอาการ รักโลภโกรธหลง ในจิต ก็เพราะว่าเราไม่รู้ ไม่รู้ว่าทำไมเราต้องทำอย่างนั้น ก็ต้องมาเรียนมาศึกษา ทฤษฎีพระพุทธเจ้านี่แหละ เป็นทฤษฎีที่สอนเรื่องนี้อย่างสมบูรณ์แบบ ศาสนาอื่นก็พยายามสอนแต่เขากดข่ม พยายามฝืนอย่าให้เกิดอาการอารมณ์โลภโกรธหลง แต่ของพุทธนี้อ่านอาการจิต มีอาการ ลิงค นิมิต อุเทส อาการคือความเคลื่อนไหว วิญญัติ ของจิต มันมีกิริยาของจิต อาการอย่างนี้คือโลภ อย่างนี้คือรักหรือโกรธ อ่านให้ออก แล้วก็เรียนรู้ว่าอาการเหล่านี้ไม่เที่ยง คุณรักตลอดกาลที่ไหน คุณโกรธตลอดกาลที่ไหน ไม่เที่ยง ไม่มีตลอดกาล ที่สำคัญคือมีแล้วเกิดเป็นเหตุให้มีความชั่วเป็นทุกข์โทษภัย อันนี้สำคัญ มันเป็นตัวเหตุแห่งสิ่งไม่ดีไม่งามด้วย ความจริงสูงสุดมันไม่มีได้ในตัวจิตเรา สูญได้ ไม่มีตัวตนสภาพอาการ รักโลภโกรธหลงในจิต เรียนรู้แล้วเลิก เข้าใจด้วยปัญญาจริงๆ ถ้าฟังอาตมาตอนนี้ เข้าใจเป็นปัญญาที่แท้จริงสูงสุดว่า รักโลภโกรธหลงเป็นตัวปลอมไม่มีจริง จิตเชื่ออาตมา มีปัญญาจริง คุณหายจริง เป็นอรหัตตผลได้เลย
ไม่ต้องมีอาการ รักโลภโกรธหลง ฟังเดี๋ยวนี้ก็ทำได้เดี๋ยวนี้ แล้วก็ทำให้ตลอด เป็น นิจจัง(เที่ยงแท้) ธุวัง (ถาวร) สัสตัง(ยืนนาน) อวิปริณามธัมมัง(ไม่แปรเปลี่ยน) อสังหิรัง(ไม่มีอะไรหักล้างได้) อสังกุปปัง(ไม่กลับกำเริบ) ง่ายไหม?
เราพิสูจน์ได้ว่า มันไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวมันก็มาเดี๋ยวมันก็ไป แล้วมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ภัย ตัวตนรักโลภโกรธหลงไม่มีหรอก มันเป็น โอฬาริกอัตตา มโนมยาอัตตา อรูปอัตตา ทำให้หมดไปได้ตลอด
ทำไมคนเราต้องมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็เพราะว่าไม่เรียนรู้ แล้วต้องมาฝึกฝน ล้างกิเลสจนหมดอนุสัยอาสวะ เป็นความรู้พระพุทธเจ้าที่ยิ่งใหญ่มาก” (600731_พุทธศาสนาตามภูมิ)


การปฏิบัติแบบพุทธนั้น จะเป็นไปตามหลัก มรรคมีองค์ 8 ซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นประธาน มีการ คิด พูด ทำ และมีการปฏิบัติสัมมาอาชีพ โดยมีสติ และความเพียรห้อมล้อม สั่งสมลงเป็นสมาธิ คือความตั้งมั่นของสัมมามรรคทั้ง 7 องค์ สั่งสมเป็นมรรคองค์ที่ 8 คือสัมมาสมาธิ โดยกรอบของศีลที่เราสมาทานไปเป็นลำดับ โดยไม่ได้แยกส่วนว่าต้องไปนั่งหลับตาปฏิบัติ หรือออกห่างไกลจากผู้คนจากสังคมแต่อย่างใดเลย
ซึ่งการปฏิบัติที่มิจฉาทิฏฐินั้น จะแยกส่วนจากชีวิตประจำวัน ไม่เป็นมรรคมีองค์ 8 ทำให้จิตขาดประสิทธิภาพ ขาดความแววไว ขาดวิธีการทำใจในใจให้รับมือกับผัสสะ ที่มากระทบได้จริง เพราะไม่ได้ฝึกแบบมรรคมีองค์ 8 คือมีเวทนาเป็นกรรมฐาน มีผัสสะเป็นปัจจัยในการปฏิบัติ เป็นหลัก
ทิฏฐิ หรือความเห็น หรือแนวโน้มในการปฏิบัติกับจิต หรือที่เรียกว่าปฏิบัติธรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญส่ิงแรก ที่ต้องทำให้ถูกตรง(สัมมาทิฏฐิ) จึงจะทำให้การปฏิบัติต่อไปทั้งชีวิตของนักปฏิบัติธรรม ไปถึงฝั่งพระนิพพานได้
ความแตกต่างของผลที่ได้จากการปฏิบัติแบบของฤาษีกับแบบของพุทธจึงต่างกัน พ่อครูมีคำสอนบางส่วนว่า ...ศาสนาพุทธนี้เป็นเจ้าของคำว่าบุญ ศาสนาอื่นที่เป็นเทวนิยมไม่มีการล้างกิเลส ศาสนาอื่นใดไม่เรียนรู้พลังงานที่เป็นกิเลสในจิตเราที่เป็นพลังงาน แล้วจับตัวกิเลสพลังงานที่มันเป็นกิเลสนี่ให้ได้ แล้วล้างกำจัดเฉพาะตัวนี้ ไม่ใช่กำจัดจิต ไม่ใช่สะกดจิตให้จิตหยุด แต่ต้องเรียนรู้แยกแยะอกุศลจิตออก แล้วทำลายตัวนี้ อย่าไปทำร้ายจิตใจตัวเอง จิตใจมันเป็นธาตุรู้ไม่ใช่ธาตุชั่ว อกุศลต่างหากเป็นธาตุชั่วที่ต้องกำจัด จะเหลือแต่จิตใจที่เป็นตัวรู้ที่มีความคล่องแคล่ว
ผู้ใดทำจิตตนมีประสิทธิภาพ ได้จิตใจดีจะยิ่งคล่องแคล่ว กายปาคุญญตา เป็นรูปธรรมที่ยิ่งคล่องแคล่วว่องไว ไม่ใช่จิตใจกำจัดกิเลสได้แล้วก็เป็นจิตที่นิ่งแข็งทื่อไม่คิด ไม่นึก ไม่ใช่! แต่ยิ่งจะมีความนึกคิดที่แววไว กายปาคุญญตา เป็นรูปนามที่ว่องไว เวทนาสัญญาสังขาร ยิ่งคล่องแคล่วว่องไว จิตวิญญาณก็ยิ่งจะคล่องแคล่วว่องไว ไม่ใช่เป็นเวทนาที่ไม่รู้สึกอะไร สัญญาไม่กำหนดรู้อะไร สังขารไม่ปรุงแต่งอะไรเลย บื้อ มันเป็นความเข้าใจผิดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเป็นมิจฉาปฏิบัติ ศาสนาพุทธเดี๋ยวนี้ได้มิจฉาไปหมดแล้วทั้งมิจฉาทิฐิ มิจฉาปฏิบัติ
เรียกจิตใจที่ดีขึ้นเรียกว่าอธิจิต สมาธิคือจิตใจตั้งมั่น เมื่อทำกิเลสที่ออกไปออกไปจนกระทั่งออกได้แล้วมันก็ตกผลึก เป็นจิตใจที่ตกผลึกได้ว่าสมาธิตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ
ใจที่มีสมาธิมีคุณสมบัติ ปริสุทธา มีความบริสุทธิ์ ปริโยทาตากระทบกับอะไรก็ยังบริสุทธิ์ได้ มุทุ ตัวจิตจริงเป็นมุทุภูตธาตุ เป็นธาตุจิตเก่งแคล่วคล่องว่องไว เจโตคือฐานจิต ปัญญาคือตัวทำงานจะยิ่งแข็งแรง static ยิ่งแข็งแรง dynamic ยิ่งเร็วไว มีประสิทธิภาพสูงเรียกว่ามุทุภูตธาตุ จึง กัมมัญญา ทำกรรมการงานได้ดี ทำงานได้อย่างดีไม่มีโทษภัย ทำมีแต่คุณค่าประโยชน์ ปภัสสรา จะทำงานหนักหนาสาหัส คลุกคลีเกี่ยวข้องปรุงแต่งอย่างไรก็ยังปภัสรา ผ่องใส แม้จะผ่านศึกไหน ก็ยังบริสุทธิ์เหมือนเดิม นี่คือคุณสมบัติของอุเบกขา เนกขัมสิตอุเบกขาเวทนา” (601112_วิถีอาริยธรรม ดอยรายปลายฟ้า)


การคบสัตบุรุษที่บริบูรณ์ ทำให้เราได้ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ จึงจะทำให้เรามีสัมมาทิฏฐิที่ถูกตรง มีการทำใจในใจที่ถูกต้อง ได้ผลเปลี่ยนแปลงจิตใจของเราให้หลุดพ้นจากทุกข์อย่างถาวร ไม่กลับกำเริบ ประสิทธิภาพของจิตก็จะยิ่งดีขึ้นๆ แววไวขึ้น ทำกรรมการงานได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าปฏิบัติผิด คบอสัตบุรุษ ได้ฟังอสัทธรรม การปฏิบัติทำใจในใจของเราก็ผิด ผลของจิตที่จะได้ย่อมตรงกันข้าม จิตก็จะยิ่งลดความแววไว ลดประสิทธิภาพของจิต ความทุกข์ก็จะทับถมอยู่กับเราไปไม่รู้จบเช่นกัน
กรณีศึกษา ที่บรรดาน้องสาวพ่อครูได้พบว่า พ่อครูเปิดทีวีสามจอเสียงดังๆพร้อมกันเป็นปกติ พ่อครูก็สามารถฟังรู้เรื่องแถมทำงานได้หลายอย่างด้วย ที่พ่อครูทำได้เนื่องจากฝึกจิตมาดีแล้ว จึงกำหนดรู้ที่จะดูและฟังได้ทีละจออย่างสบายๆ ไม่มีตัวกวน

ใครอยากจะได้จิตแบบนี้ คงต้องมาเข้าใกล้ เงี่ยโสตสดับฟังสัทธรรมจากสัตบุรุษอย่างพ่อครูให้บริบูรณ์เป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วเอาจริงกับการปฏิบัติให้สัมมาปฏิบัติ จึงจะได้ถึงผลเป็นสัมมาปฏิเวธไปตามลำดับ …สาธุ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

# พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ ฝากลมฝากฟ้าผ่านสื่อไปถึงนายกฯลุงตู่ด้วยความปรารถนาดี

_มีคำถาม ในรายการ วิถีอาริยธรรม วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน 2561นี้ ว่า.....เปรยตามสายไลน์มาว่า พ่อท่านพูดอะไรก็ดีไปหมด มีเรื่องเดียวที่ไม่เข้าห...